กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะประชาชนป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ในช่วงฤดูหนาว โดยไม่จุดไฟบริเวณแนวชายป่าหรือใกล้แหล่งเชื้อเพลิง เพิ่มความระมัดระวังการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับไฟ ไม่เผาขยะ และไม่จุดธูปเทียนทิ้งไว้โดยไม่มีคนดูแล เพราะเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ รวมถึงตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ พร้อมทั้งหมั่นสังเกตความผิดปกติของอุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูหนาวจะมีสภาพอากาศหนาวเย็น แห้งแล้ง ลมพัดแรง ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อเกิดเพลิงไหม้มากกว่าปกติและยากต่อการควบคุม เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะประชาชนเรียนรู้การป้องกันเพลิงไหม้ในช่วงฤดูหนาว ดังนี้ การป้องกันเพลิงไหม้ ควรเพิ่มความระมัดระวังการประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับไฟโดยไม่มีคนดูแล ไม่จุดธูปเทียนหรือยากันยุงทิ้งไว้ ปิดวาว์ลถังก๊าซทุกครั้งหลังใช้งาน รวมถึงดับไฟก้นบุหรี่ให้สนิทก่อนทิ้ง ไม่เผาขยะในที่โล่งแจ้ง ไม่ก่อกองไฟให้ความอบอุ่นบริเวณใกล้จุดเสี่ยงเพลิงไหม้ โดยเฉพาะบริเวณรอบบ้านใกล้แหล่งเชื้อเพลิง อาทิ กองฟาง กองไม้แห้ง นอกจากนี้ ควรจัดสภาพบ้านเรือนให้เรียบร้อย กำจัดวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงบริเวณรอบบ้าน เช่น กระดาษ หนังสือพิมพ์ ไม้ขีดไฟ เศษไม้ เป็นต้น รวมทั้งแยกเก็บสารเคมี น้ำมันเชื้อเพลิงวัตถุไวไฟทุกชนิดและวัสดุที่ติดไฟง่ายไว้ในบริเวณที่ปลอดภัย ห่างจากแหล่งความร้อน ไม่เก็บไว้ในอาคารบ้านเรือน เพื่อป้องกันเพลิงลุกลาม อีกทั้งควรเก็บกวาดใบไม้ กิ่งไม้ และหญ้าแห้งไม่ให้กองสุม หรือเผาวัสดุในภาชนะที่ปิดมิดชิด เพื่อป้องกันแรงลมพัด ทำให้ง่ายต่อการเกิดเพลิงไหม้
การป้องกันเพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดจรควรตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่ในบริเวณที่แสงแดดส่องถึง ฝนสาด และใกล้แหล่งความร้อน หากสายไฟฉีกขาด บุบ บวมสีเปลี่ยน มีกลิ่นเหม็นไหม้ ให้ซ่อมแซมหรือเปลี่ยนใหม่ทันที รวมถึงไม่เสียบปลั๊กไฟหลายอันไว้บนเต้าเสียบเดียวกันหรือเสียบปลั๊กไฟค้างไว้เป็นเวลานาน เนื่องจากหากกระแสไฟฟ้าลัดวงจร อาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีป้องกันการเกิดเพลิงไหม้อย่างถูกวิธี จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตในช่วงฤดูหนาวเป็นไปด้วยความปลอดภัย
ท้ายนี้ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากอุบัติภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโม
เครดิต : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM