ประวัติความเป็นมา
History.
ประวัติความเป็นมา
แต่เดิมเมืองสนั่นรักษ์เป็นเพียงตำบลเล็กๆ สองตำบลรวมกันในอำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นเมืองปริมณฑลที่มีอาณาเขตพื้นที่ ครอบคลุมตั้งแต่คลอง 9 ถึงคลอง 14 พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าทึบ มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง แห่งแรกเป็นบึงน้ำที่อยู่บริเวณคลอง 12 – 13 ลักษณะเด่นของบึงนี้ คือ มีน้ำใสเต็มจึงมองเห็นเป็นสีดำ ชาวบ้านละแวกนั้นจึงเรียกบึงนี้ว่า บึงน้ำรัก แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่านวิวัฒนาการแห่งภาษาได้เปลี่ยนแปลงให้ บึงน้ำรัก กลายเป็น บึงน้ำรักษ์ในเวลาต่อมา กอปรกับแหล่งน้ำอีกแห่งอยู่ไม่ไกลจากบึงน้ำรักษ์มากนัก บึงน้ำแห่งนี้เป็นบึงน้ำที่มีสัตว์ป่าเป็นจำนวนมากลงมากินน้ำ ทำให้เกิดส่งเสียงเอ็ดอึง อยู่เป็นประจำ ชาวบ้านแถบนั้นจึงขนานนามบึงตามเสียงอื้ออึงว่า บึงสนั่น ด้วยเหตุนี้ ชื่อเมืองสนั่นรักษ์ จึงถือกำเนิดขึ้น โดยการนำชื่อท้ายของบึงสนั่นและบึงน้ำรักษ์ รวมเข้าด้วยกัน
สภาพเมืองสนั่นรักษ์ในอดีตเป็นเพียงป่ารกชัฏ แม้จะมีดินอุดมดีแต่พื้นที่ยังขาดแคลนน้ำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองขึ้น
ในปี พ.ศ. 2433 จากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ถึงเขตจังหวัดนครนายก และพระราชทานนามคลองแห่งนี้ว่า คลองรังสิตประยูรศักดิ์ เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพของผู้ที่อาศัยในละแวกนั้น
ปัจจุบันเมืองสนั่นรักษ์มีลักษณะทางกายภาพเป็นพื้นที่ราบลุ่มที่เหมาะแก่การทำการเกษตร อีกทั้งยังมีคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ไหลตัดผ่านกลางพื้นที่ ซึ่งเหมาะอย่างยิ่ง
สำหรับเป็นแหล่งส่งน้ำ เพื่อประโยชน์ด้านกสิกรรม ปลูกพืชสวนและพืชไร่ เนื่องจากมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ประกอบกับลักษณะของดินเป็นดินเหนียว เนื้อดินละเอียด สามารถอุ้มน้ำและกักเก็บน้ำได้ค่อนข้างดี จึงเหมาะแก่การปลูกพืชสวนโดยเฉพาะสวนส้มเขียวหวาน ซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออก และพืชเศรษฐกิจ
ด้วยเป็นเมืองปริมณฑลมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทั้งดินดี น้ำใช้สะอาด อากาศบริสุทธิ์ จึงทำให้เมืองสนั่นรักษ์กลายเป็นอีกแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีผู้คนอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน
เข้ามาอยู่ในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทำให้มีการกระจายรายได้ภายในชุมชนเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนได้เป็นอย่างดี
จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมา ตำบลบึงสนั่นและตำบลบึงน้ำรักษ์ ในอดีตเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของอำเภอรังสิต (อำเภอธัญบุรีในปัจจุบัน) เรียกว่า ทุ่งหลวง กระทั่งกลายเป็นเมืองขนาดกลาง กอปรกับเป็นเมืองปริมณฑลจึงมีผู้คนอพยพเข้ามาอาศัยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เขตพื้นที่ดังกล่าวได้รับการยกระดับให้เป็นสุขาภิบาลและตั้งชื่อใหม่ว่า “สุขาภิบาลสนั่นรักษ์” เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2519 และเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2542 สุขาภิบาลสนั่นรักษ์ได้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลตำบลสนั่นรักษ์ ตามพระราชบัญญัติ เปลี่ยนแปลงฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาล ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย และยกระดับเทศบาลตำบลสนั่นรักษ์ขึ้นเป็นเทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ในเวลาต่อมา
สมัยแรกเริ่มสำนักงานเทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ได้ก่อสร้างอาคารสำนักงาน เมื่อ พ.ศ. 2543 จำนวน 1 หลัง 3 ชั้น ระยะต่อมาความต้องการรับบริการ ของประชาชนที่มาติดต่อราชการมีเพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการ คณะผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาลจึงเห็นชอบให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานเทศบาลเมืองสนั่นรักษ์หลังใหม่ขึ้น โดยจัดให้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2550 ณ บริเวณหน้าสำนักงานเทศบาลหลังเดิม ตั้งอยู่เลขที่ 888 หมู่ที่ 2 ตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เป็นอาคาร ค.ส.ล. ขนาดความสูง 4 ชั้น พร้อมติดตั้งระบบไฟฟ้า ระบบท่อประปา ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบการระบายอากาศ ระบบลิฟท์ มีพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 4,380 ตารางเมตร จำนวน 1 หลัง ราคาก่อสร้าง 74,722,000 บาท โดยปรับปรุงภูมิทัศน์และตกแต่งภายใน ให้สวยงาม รวมทั้งมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ประชาชน
” เทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ ได้รับรางวัลชมเชยในการเข้าร่วมโครงการประเมินเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืน ประจำปี 2550 และได้รับโล่และเกียรติบัตรจากการเข้าร่วมโครงการ “เทศบาลน่าอยู่ด้านสุขภาพ ประจำปี 2551 และรางวัล Best Practice Model จากศูนย์อนามัยที่ 1 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทางเทศบาลเมืองสนั่นรักษ์สามารถพัฒนา เป็นเทศบาลน่าอยู่ด้านสุขภาพ โดยผ่านเกณฑ์การประเมินด้านกระบวนการเมืองน่าอยู่ และมีผลสัมฤทธิ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในระดับ 1 และรางวัล Best Practice Model ของพื้นที่เขต 1 ด้วย เทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ ได้รับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ เป็นองค์กรที่มีการจัดทำข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกภายใต้โครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพย์กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566 “